03 การเก็บข้อมูลทางการตลาด
การเก็บข้อมูลทางการตลาดเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวิจัยทางการตลาด การเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจทางการตลาด จะนำไปสู่การบริหารและตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง หรืออย่างน้อยก็มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในเบื้องต้น ไม่ใช่การวิเคราะห์โดยการคาดการณ์จากประสบการณ์หรือสามัญสำนึกของผู้บริหาร
ก่อนที่จะทำความเข้าใจในเรื่องของการเก็บข้อมูลทางการตลาด จำเป็นจะต้องเข้าใจกระบวนการวิจัยทั้งหมดที่ทุกขั้นตอนต้องสอดประสานเชื่อมโยงกันตั้งแต่การออกแบบการวิจัยจนกระทั่งถึงขั้นการวิเคราะห์และรายงานผล ซึ่งในที่นี้จะทบทวนให้เห็นถึงกระบวนการวิจัยทางการตลาดทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วย
- การกำหนดปัญหาและวัตถุประสงค์ของการวิจัย
- การกำหนดแหล่งข้อมูลและออกแบบการวิจัย
- การกำหนดวิธีการและแบบฟอร์มที่ใช้ในการเก็บข้อมูล
- การออกแบบการเลือกตัวอย่างและเก็บรวบรวมข้อมูล
- การตีความและวิเคราะห์ข้อมูล
- การรายงานผลการวิจัย
ดังนั้นวิธีการเก็บข้อมูลเป็นอย่างไร หรือเก็บจากคนกลุ่มไหนจะต้องถูกกำหนดตั้งแต่การออกแบบการวิจัย เพื่อจะได้เลือกวิธีการเก็บข้อมูลที่เหมาะสมและสามารถตอบโจทย์ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยได้ชัดเจน ซึ่งนอกเหนือจากวิธีการเก็บแล้วยังเกี่ยวโยงไปถึงการกำหนดกลุ่มตัวอย่างและการใช้วิธีการวิเคราะห์ที่เหมาะสมกับโจทย์ที่กำหนดในเบื้องต้น
การกำหนดวิธีการและแบบฟอร์มที่ใช้ในการเก็บข้อมูล
(Design of data collection methods and forms)
ดังได้กล่าวในข้างต้นวิธีการที่ใช้ในการเก็บข้อมูลขึ้นอยู่กับลักษณะงานวิจัยและประเภทของข้อมูล โดยจะแบ่งข้อมูลเพื่อการวิจัยใน 2 ลักษณะ คือ
1. ข้อมูลทุติยภูมิ เป็นข้อมูลที่มีการวิเคราะห์หรือแจกแจงมาเบื้องต้นแล้ว อาจได้มาจากการซื้อข้อมูลมา การสัมภาษณ์ผู้รู้ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง
2. ข้อมูลปฐมภูมิ เป็นข้อมูลที่ได้มาจากการใช้แบบฟอร์มไปเก็บและบันทึกข้อมูล โดยมีวิธีการ เก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ดังนี้
2.1 การสังเกต (Observation) ได้แก่ การสังเกตทางตรงและการสังเกตทางอ้อม ซึ่งมีความสะดวกในการเก็บรวบรวมข้อมูล และมีอคติต่ำ
2.2 การสำรวจ (Survey) โดยการใช้แบบสอบถาม ได้แก่
- การสำรวจทางไปรษณีย์ สามารถทำได้เป็นจำนวนมากในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากในพื้นที่กว้างขวางในระยะสั้น รวดเร็วและประหยัด ใช้บุคลากรในการเก็บข้อมูลน้อย กลุ่มตัวอย่างมีอิสระในการตอบและเต็มใจจะตอบมากกว่าถูกสัมภาษณ์ แต่ข้อจำกัดก็คือข้อมูลที่ได้กลับมามีปริมาณน้อย ไม่สามารถเจาะจงตัวอย่างได้แน่ชัด
- การสำรวจทางโทรศัพท์ สามารถเก็บข้อมูลได้รวดเร็วทันกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ใช้ระยะเวลาสั้นไม่รบกวนผู้ตอบมาก และสามารถอธิบายคำถามและซักถามได้ ส่วนข้อจำกัดคือ เลือกตัวอย่างได้เฉพาะผู้ที่มีโทรศัพท์ และข้อมูลที่ต้องการรายละเอียดมาก ไม่สามารถทำได้เนื่องจากไม่เห็นภาพ
- การสำรวจโดยพบตัว ซึ่งอาจจะให้ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นผู้ตอบเองหรือโดยการสอบถามจากเจ้าหน้าที่สำรวจ วิธีการนี้ค่อนข้างได้ผลชัดเจน และสามารถเลือกกลุ่มตัวอย่างตามที่กำหนดไว้ได้ สามารถอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมได้ อาจจะใช้วิธีการสังเกตไปพร้อมกัน เก็บข้อมูลได้รวดเร็วและกำหนดระยะเวลาได้ แต่ข้อจำกัดคือเสียค่าใช้จ่ายมากในการเก็บข้อมูล และอาจจะไม่ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มตัวอย่าง ต้องใช้ความมีมนุษยสัมพันธ์สูงในการเก็บรวบรวมข้อมูล
2.3 การสัมภาษณ์ (Interview) เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) และต้องการผู้ให้ข้อมูลจำนวนไม่มาก เป็นการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นรูปแบบโครงสร้าง เน้นการวัดทางอ้อม เรื่องความรู้สึก ความเชื่อ และมีการสังเกตผู้ให้ข้อมูลในขณะตอบคำถาม โดยแบ่งการสัมภาษณ์เป็น 2 ลักษณะ
2.3.1 การสัมภาษณ์กลุ่มเจาะจง (Focus Group Interview) จะให้ความสำคัญกับกลุ่มที่ถูกเลือกมาให้สัมภาษณ์อย่างมาก โดยการจัดเป็นกลุ่มๆ ละประมาณ 6-12 คน และมีการสังเกตพฤติกรรมก่อนการสัมภาษณ์ โดยมีการสัมภาษณ์ในลักษณะอภิปรายร่วมกัน ซึ่งเหมาะสำหรับการสำรวจเพื่อหาข้อมูลเบื้องต้นในเรื่องที่ไม่แน่ชัด เช่น การออกสินค้าใหม่ สาเหตุการซื้อ/ไม่ซื้อ ซึ่งคำตอบที่ได้จากการสัมภาษณ์ไม่ให้คำตอบที่เป็นเชิงปริมาณ
2.3.2 การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (Depth Interview) เป็นการสัมภาษณ์แบบ one-on-one เพื่อค้นหาแรงจูงใจ, อคติ, ทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งต้องใช้ผู้สัมภาษณ์ที่มีความสามารถสูง เหมาะกับการถามเรื่องส่วนตัว มีเหตุผลซับซ้อน ต้องถามคำถามโดยอ้อมเพื่อกระตุ้นให้ผู้สัมภาษณ์ตอบอย่างเต็มที่
การออกแบบสอบถาม (Questionnaire)
อย่างไรก็ตามการเก็บรวบรวมข้อมูลซึ่งนิยมใช้ในการวิจัยทางการตลาดที่ผ่านมา จะปฏิบัติ
โดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) โดยหลักสำคัญในการออกแบบสอบถามคือต้องสามารถตอบโจทย์ได้ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับการวิจัยเชิงสำรวจ โดยมีเทคนิคในการร่างคำถาม ดังนี้
1. มีการแนะนำการสำรวจวิจัย เช่น แนะนำตัวในเบื้องต้นว่าเป็นใคร และทำการสำรวจไปเพื่ออะไร
2. ถามเฉพาะที่จำเป็น เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนตามวัตถุประสงค์
3. ใช้ภาษาที่เหมาะสมกับผู้ตอบ ซึ่งขึ้นอยู่กับกลุ่มตัวอย่างที่เราสอบถามหรือสำรวจว่าเป็นใคร โดยอาจจะพิจารณาจากอายุ รายได้ การศึกษา เป็นต้น
4. ควรเริ่มต้นด้วยคำถามคัดคุณสมบัติผู้ตอบ ( Filter question) เนื่องจากผู้ตอบบางคนอาจจะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการสัมภาษณ์ เช่น หากกำหนดว่าลูกค้าหรือผู้ตอบคำถามมีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ก็จะใช้คำถามระดับการศึกษาเป็นคำถามในการคัดคุณสมบัติ เป็นต้น
5. จัดกลุ่มและลำดับคำถามให้เหมาะสม แบบสอบถามที่ดีจะมีความสอดคล้องต่อเนื่องกันในแต่ละข้อคำถาม และสามารถตรวจสอบได้
6. มีความชัดเจนและแม่นยำ ผู้ออกแบบสอบถามจะต้องมีความเข้าใจในธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ในระดับหนึ่งเพื่อจะได้ออกแบบสอบถามได้ชัดเจน
7. คำตอบให้เลือกต้องเป็นอิสระต่อกัน
8. คำตอบที่ให้เลือกต้องครอบคลุมทั้งหมด ผู้ออกแบบสอบถามควรศึกษารายละเอียดในเรื่องราวที่จะทำการศึกษาเพื่อสรรหาคำตอบให้ครอบคลุมเนื้อหาที่ต้องการศึกษา
9. พยายามหลีกเลี่ยงคำที่เรียกปฏิกิริยาหรืออารมณ์จากผู้ตอบ
นอกจากเนื้อหาในการสร้างคำถามจะมีความสำคัญแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงต่อไปในการออกแบบคำถามคือลักษณะของคำตอบที่ใช้ในแบบสอบถาม เพราะจะมีผลถึงการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลที่ โดยทั่วไปสามารถแบ่งลักษณะคำตอบได้ดังนี้
1. มี 2 คำตอบให้เลือก (Dichotomous)
2. ให้เลือกเพียง 1 คำตอบ (Multiple choice)
3. ให้เลือกได้มากกว่า 1 คำตอบ (Checklist)
4. ให้เรียงลำดับ (Ranking)
5. ให้บอกระดับ เช่น ความสำคัญ ความชอบ (Rating)
ตัวอย่างแบบสอบถามแบบ Dichotomous
- ท่านซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าไหมเป็นครั้งแรกใช่หรือไม่
( ) ใช่ ( ) ไม่ใช่
ตัวอย่างแบบสอบถามแบบ Multiple choice, Checklist และ Ranking
- ท่านชอบสินค้าประเภทใดมากที่สุด (ตอบได้ 1 คำตอบ)
- ท่านซื้อสินค้าใดบ้าง (ตอบได้มากกว่า 1 คำตอบ)
- กรุณาเรียงลำดับสินค้าที่ท่านชอบ (1=ชอบมากที่สุด)
( ) กระเป๋า ( ) รองเท้า ( ) ที่ใส่กระดาษทิชชู่
( ) เน็คไท ( ) ผ้าพันคอ ( ) เสื้อผ้า
การออกแบบตัวอย่างและการเก็บข้อมูล (Sample design and data collection)
การออกแบบตัวอย่างจะมีความสัมพันธ์กับวิธีการเก็บข้อมูลดังที่ได้กล่าวไปแล้ว รวมถึงเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลด้วย เพราะถ้าหากเป็นสินค้าที่มีลักษณะพิเศษ มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ วิธีการเก็บข้อมูลอาจจะไม่สามารถใช้วิธีการสำรวจได้ แต่อาจจะเลือกใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก หรือการสนทนากลุ่ม (Focus Group) ซึ่งแต่ละวิธีจะมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามในการเก็บข้อมูลที่กำลังกล่าวถึงนี้จะมุ่งเน้นการเก็บข้อมูลจากกลุ่มประชากรที่มีขนาดใหญ่ที่น่าจะเหมาะสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งก่อนที่จะเก็บข้อมูลและออกแบบตัวอย่างควรทำความเข้าใจในรายละเอียดต่างๆ ดังนี้
ประชากร (Population) หมายถึงทุกคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการวิจัยครั้งนี้
ตัวอย่าง (Sample) หมายถึงคนจำนวนหนึ่งที่ถูกเลือกจากประชากรเพื่อใช้เป็นตัวแทนสำหรับอ้างอิงถึงประชากรทั้งหมด
ขนาดของกลุ่มตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่าง ( Sample Survey) คือ ตัวแทนของประชากรที่เราต้องการศึกษาทั้งหมด โดยทั่วไปจะอ้างอิงตามหลักสถิติโดยการกำหนดระดับความเชื่อมั่น (Confidence interval) ซึ่งอาจจะใช้วิธีการกำหนดขนาดตัวอย่าง ดังนี้
1. กำหนดจากประสบการณ์วิจัย หรือจากงานวิจัยครั้งก่อนๆ
2. กำหนดขนาดตัวอย่างตามงบประมาณที่มี
3. การคำนวณขนาดตัวอย่างตามวิธีการทางสถิติ
4. การกำหนดขนาดตัวอย่างตามตารางสำเร็จรูปทางสถิติ
การเลือกกลุ่มตัวอย่าง มีหลายวิธี เช่น เลือกตามความสะดวก เลือกโดยการสุ่ม เลือกโดยแบ่งเขตตามพื้นที่ เป็นต้น สามารถแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ
1. การคัดเลือกตัวอย่างตามความน่าจะเป็น ประกอบด้วย
1.1 การคัดเลือกตัวอย่างแบบง่าย
1.2 การคัดเลือกตัวอย่างแบบมีระบบ
1.3 การคัดเลือกตัวอย่างแบบแบ่งชั้นก่อน
1.4 การคัดเลือกแบบยกกลุ่ม
2. การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยไม่ใช้ความน่าจะเป็น
2.1 การคัดเลือกตัวอย่างตามความสะดวก
2.2 การคัดเลือกตามวิจารณญาณ
2.3 การคัดเลือกตัวอย่างตามโควต้า
2.4 การคัดเลือกโดยให้ตัวอย่างแนะนำต่อๆ ไป
หลังจากการเก็บข้อมูลแล้ว ขั้นตอนต่อไปของการวิจัยคือการประมวลผล วิธีการประมวลผลข้อมูล เป็นสิ่งบ่งชี้คุณภาพข้อมูลหลังจากที่เก็บรวบรวมมาเรียบร้อยแล้วและก่อนเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์ ถือเป็นประเด็นที่ต้องมีการกล่าวไว้ในโครงร่างวิจัย เฉพาะอย่างยิ่งกรณีการวิจัยที่มีขนาดใหญ่ มีหัวข้อที่พึงให้รายละเอียดดังนี้
1. การลงรหัส ใครเป็นผู้ลงรหัส ใครคือผู้ตัดสินใจหากเกิดปัญหาการให้รหัส ถ้ามีคู่มือการลงรหัสจะดีมาก และควรแสดงในภาคผนวกด้วย
2. การนำเข้าข้อมูล ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือไม่ ถ้าใช้ ใช้โปรแกรมอะไร มีวิธีการตรวจสอบความถูกต้องหรือไม่ อย่างไร เช่นมีการป้อนข้อมูลซ้ำกันสองครั้งโดยผู้ป้อนข้อมูลสองคน แล้วตรวจสอบหาข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกันจากนั้นทำการแก้ไขชุดข้อมูลที่จะนำไปใช้ต่อไป เป็นต้น
3. การตรวจสอบความถูกต้องและการปรับปรุงแก้ไข ขั้นตอนนี้เป็นการกรองข้อมูลขั้นสุดท้าย เพื่อให้ได้คุณภาพที่สุดก่อนเข้าสู่การวิเคราะห์ บางคนเรียกว่าการทำความสะอาดข้อมูล (Data cleaning) เช่นแจกแจงความถี่ในทุกตัวแปรเพื่อตรวจหาค่าที่เป็นไปไม่ได้ เช่นรหัสเพศควรมีเพียง 1 และสอง แต่ถ้ามี 3 มาก็ต้องแก้ไข หรือพบว่า เพศชาย แต่ที่ตัวแปรมาตรการคุมกำเนิดที่เลือกใช้คือใส่ห่วง เช่นนี้ก็ต้องแก้ไข เป็นต้น สิ่งเล่านี้ควรมีระบุวิธีการไว้
การวิเคราะห์ข้อมูล
การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการทางสถิติ เป็นการนำข้อมูลเชิงปริมาณที่รวบรวมได้มาจัดหมวดหมู่ตีความหมาย การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ส่วนใหญ่ต้องอาศัยสถิติ สิ่งที่ต้องระบุในที่นี้ คือวิธีการทางสถิติที่เลือกใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล จำแนกอธิบายเป็น 2 ประเด็นตามการจำแนกชนิดของสถิติศาสตร์ ดังนี้
· สถิติเชิงพรรณนา ต้องกล่าวถึงประเภทตัวแปรที่ศึกษา และค่าสถิติที่ใช้พรรณนา
· สถิติเชิงอนุมาน เป็นการระบุเกี่ยวกับการประมาณค่าประชากรและสถิติทดสอบที่เลือกใช้
สถิติเชิงพรรณนา
การวิเคราะห์โดยใช้สถิติบรรยายหรือสถิติพื้นฐาน เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ในการบรรยายคุณลักษณะของข้อมูลชองกลุ่มตัวอย่างหรือกลุ่มประชากรที่ใช้ในการศึกษา สถิติที่นิยมใช้
1) ร้อยละ (Percent) เป็นค่าเปรียบเทียบระหว่างจำนวนข้อมูลซึ่งมีลักษณะที่ผู้ประเมินสนใจศึกษากับจำนวนข้อมูลทั้งหมด ซึ่งเท่ากับ 100 ใช้ร้อยละในการบรรยายสัดส่วนของตัวแปร ซึ่งสำหรับ SME ส่วนใหญ่ ก็จะใช้สถิติตัวนี้กันมาก
ตัวอย่างตารางที่1 แสดงจำนวน ค่าร้อยละ ของเพศ และอายุ
สถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถาม | จำนวน ( คน ) | ร้อยละ |
1. เพศ | ||
ชาย | 41 | 10.25 |
หญิง | 359 | 89.75 |
รวม | 400 | 100.00 |
2. อายุ | ||
20-29 ปี | 152 | 38.0 |
30-39 ปี | 181 | 45.25 |
40-49 ปี | 45 | 11.25 |
50 ปีขึ้นไป | 22 | 5.5 |
รวม | 400 | 100.00 |
2) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเฉลี่ยเป็นค่ากลางที่ได้จากการนำข้อมูลทุกค่ารวมกันแล้วหารด้วยจำนวนข้อมูลทั้งหมด
3) การวัดการกระจาย คือ พิสัย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ค่าเฉลี่ยของความแตกต่างระหว่างข้อมูลแต่ละตัว จากค่าเฉลี่ยเลขคณิต เป็นค่าที่แสดงถึงการกระจายของข้อมูลแต่ละตัวที่เบี่ยงเบนไปจากค่าเฉลี่ย ซึ่งทำให้ทราบว่า โดยเฉลี่ยแล้วข้อมูลแต่ละตัวเบี่ยงเบนไปจากค่าเฉลี่ยเลขคณิตเท่าใด
เป็นเรื่องของการทดสอบความสัมพันธ์กันของข้อมูล ซึ่งจะต้องใช้วิชาสถิติขั้นสูงขึ้นมาอีกระดับ เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล
โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการวิจัยตลาด
โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ ถ้ามีการใช้คอมพิวเตอร์ในการวิเคราะห์ข้อมูล โปรแกรมที่นิยมใช้มากที่สุดคือ SPSS for Windows
มีประโยชน์อย่างมาก "ขอบคุณครับ"
ตอบลบ