วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การสื่อสารตราสินค้า "คุณเท่านั้นที่รู้"


แม้พฤติกรรมของผู้ดื่มวิสกี้อายุหมักบ่ 5 ปี ในเซกเมนต์สแตนดาร์ด จะไม่ห่วงด้านภาพลักษณ์มากนัก เพราะนิยมซื้อเหล้าจากร้านค้าไปดื่มที่บ้านกับเพื่อน ซึ่งส่งผลทำให้ช่องทางการขายผ่านออฟพรีมิ หรือ โมเดิร์นเทรด ร้านค้าสะดวกซื้อ เป็นช่องทางการขายหลักๆที่ทรงพลังของวิสกี้ในเซกเมนต์นี้

แต่ทว่า ก่อนที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจเลือกซื้อวิสกี้แบรนด์ไหนขึ้นมาดื่มนั้คุณภาพสินค้า และภาพพจน์แบรนด์ก็เป็นปัจจัยหลักๆที่จะทำให้สินค้าได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค ซึ่งเหตุผลดังกล่าวทำให้สมรภูมินี้เกิดภาพการแข่งขันทางด้านสร้างภาพลักษณ์กันอย่างดุเดือดมาเป็นระยะเวลานาน มีทั้งผู้เล่นหน้าเก่า หน้าใหม่ สลับสับเปลี่ยนกันเข้ามาในตลาดอยู่เสมอ ที่สำคัญยังมีการเปลี่ยนมือผู้ครองบัลลังก์ตลาดจาก"สเปย์ รอยัล"มาเป็น " ฮันเดรท ไพเพอร์ส"ในปัจจุบัน

ก่อนที่"ฮันเดรท ไพเพอร์ส" จะโค่นบัลลังก์"อัศวินสีม่วง" ได้นั้น นอกจากการเปิดเกมรุกทางด้านราคา 200 บาทต้นๆ ที่มีรสชาติไม่ไม่ด้อยกว่าราคาแล้ว ขบวนการทำการตลาด เพื่อสร้างภาพพจน์แบรนด์ ซึ่งอยู่ภายใต้การวางตำแหน่งสินค้า สก็อตวิสกี้แท้ สำหรับเพื่อนแท้อีกทั้งการเดินเกมในเชิงกลยุทธ์มิวสิกมาร์เก็ตติ้งยังเป็นอาวุธชั้นดีที่ทำให้ "ฮันเดรท ไพเพอร์ส" ครองส่วนแบ่งตลาด 85% จากตลาดรวมที่มีปริมาณ 3 ล้านลังในปีนี้

แต่ปีที่ผ่านมาจากภาวะตลาดวิสกี้นำเข้ามูลค่า 6ล้านลัง ที่มีวิสกี้กลุ่มสแตนดาร์ดสัดส่วน 40% ต้องเผชิญกับอุปสรรคนานับปราการที่เข้ามารุมเร้า ทั้ภาพรวมเศรษฐกิจที่ทรงตัว จากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้กำลังการซื้อลดลง รวมถึงกฎข้อบังคับภาครัฐที่เข้มงวดต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลทำให้ตลาดวิสกี้อยู่ในภาวะทรงตัว

หลังจากที่เปิดตัวลงสู่ตลาดมากกว่า 5 ปี และเมื่อประมาณกลางปี 2548 ที่ผ่านมา "ฮันเดรท ไพเพอร์ส ได้ปรับแผนการตลาดใหม่เพื่อรับมือกับสภาพตลาดที่ซบเซา ขณะที่การวางตำแหน่งการตลาดของ "ฮันเดรท ไพเพอร์ส" ในระดับโกลบอลก็ยังใช้คอนเซปต์เดิมคือ สก็อตวิสกี้แท้ สำหรับเพื่อนแท้

สำหรับแนวทางของการ รีโพสิชั่นนิ่ง"ฮันเดรท ไพเพอร์ส" นั้น ได้อาศัยช่องว่างของกลุ่มเป้าหมายเป็นกลยุทธ์ในการขยายฐานลูกค้าให้มีการครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น จากการวางตำแหน่งการตลาดแบบเดิมว่า"สก็อต วิสกี้ นุ่มของคนรักเพื่อน" เน้นจับลูกค้าช่วงอายุระหว่าง 20-25 ปี ปรับมาเป็น "ความหมายของคำว่าเพื่อนแท้ คุณเท่านั้นที่รู้" โดยมุ่งขยายฐานลูกค้าที่มีช่วงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 20-35 ปี

นอกจากนั้นยังได้วางแนวทางการตลาดอย่างครบวงจร ทั้งสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ กิจกรรมส่งเสริมการขาย โปรโมชั่น บิลบอร์ด โดยหลักๆแล้วมีการสื่อสารตอกย้ำคอนเซปต์การตลาดใหม ผ่านภาพยนตร์โฆษณาใหม่ชุด "Real Friend" ที่ตอกย้ำ message ความเป็นสก๊อตวิสกี้แท้ โดยเปลี่ยนความหมายของคำว่า แท้ คุณเท่านั้นที่รู้ ใหม่ เพื่อให้ผู้บริโภคแยกแยะได้ว่าผลิตภัณฑ์ใดเป็นวิสกี้แท้ ซึ่งกลุ่มผู้ดื่มจะเป็นคนมองการณ์ไกล ฉลาดเลือกและเข้าใจว่าอะไรแท้ อะไรไม่แท้

ส่วนการจัดกิจกรรมภายใต้ตำแหน่งการตลาด ความหมายของคำว่าเพื่อนแท้ คุณเท่านั้นที่รู้" ในช่วงปลายปี 2548 ที่ผ่านมา ก็ยังเดินหน้าจัดกิจกรรมที่เป็นการตลาดสร้างประสบการณ์ ด้วยการจัดแคมเปญ "ฮันเดรท ไพเพอร์ส" สก็อตช์วิสกี้นุ่มๆ ของคนรักเพื่อน เฟ้นหาเพื่อนรัก 5 คู่ พาเหินฟ้าไปประเทศอังกฤษเพื่อหาประสบการณ์จริงในการชมการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก แมทช์ระหว่าง เชลซี กับ อาร์เซนอล พร้อมกับพาชมสถานที่สำคัญต่างๆ ของกรุงลอนดอน

ในปลายปีที่ผ่านมา เพอร์นอตฯ ยังเคลื่อนไหวทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ด้วยภาพลักษณ์แบรนด์ที่แข็งแกร่งที่อยู่ในแนวคิด วิสกี้แท้สำหรับเพื่อนแท้ก็ได้แตกไลน์"ฮันเดรทไพเพอร์ส "ไปสู่การออกสินค้าในเซกเมนต์ วิสกี้พรีเมียมสแตนดาร์ด ที่อยู่ภายใต้แบรนด์"ฮันเดรท ไพเพอร์ส" มอลล์วิสกี้ 8 ปี ลงสู่ประเทศไทยเป็นแห่งแรก

ขณะเดียวกันการทำตลาด"ฮันเดรท ไพเพอร์ส" 8 ปี ในเซกเมนต์พรีเมียม แสตนดาร์ด ที่แตกกิ่งก้านสาขามาจากเซกเมนต์สแตนดาร์ดนั้ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคในการตลาด เพราะพฤติกรรมการดื่มของลูกค้ามีความแตกต่างกันระหว่าง 2 เซกเมนต์

พฤติกรรมการดื่มเหล้าเซกเมนต์พรีเมียม สแตนดาร์ด ผู้ดื่มจะคำนึงถึงเรื่องภาพลักษณ์ของสินค้าเป็นอันดับต้นๆ แต่ทาง เพอร์นอตได้ทำวิจัยแล้วว่า ฮันเดรดฯเป็นแบรนด์ที่มีความทันสมัย มีคุณภาพ และเหมาะสมสำหรับการดื่มเพื่อสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ซึ่งจากผลวิจัยในเรื่องแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ทำให้การวางคอนเซปต์ของ "ฮันเดรท ไพเพอร์ส" 8 ปี ที่เป็นสินค้าในเซกเมนต์ใหม่นั้น ยังคงอยู่ภายใต้คอนเซปต์ แท้สำหรับเพื่อนแท้ แต่มีความแตกต่างจากฮันเดรดฯเดิมคือจุดขายระหว่างสก็อตวิสกี้แท้ กับมอลต์วิสกี้ แท้ เท่านั้น

สำหรับความพยายามเพื่อขยับขยายแบรนด์ไปสู่เซกเมนต์พรีเมียม แสตนดาร์ดครั้งนี้ นัยว่าเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม เพราะลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย"ฮันเดรท ไพเพอร์ส" 4 ล้านคน จำนวน 1 ใน 3 ได้เริ่มเติบโตเป็นผู้ใหญ่อายุ 30 ปีขึ้นไป และยังเป็นกลุ่มที่มีรายได้เพิ่มขึ้ จึงต้องการผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการดีขึ้น และเลือกดื่มในบางช่วงโอกาสจากที่เคยดื่มทุกวัน

ที่สำคัญยังเป็นการขยายฐานเพื่อเข้าไปทาบรัศมีกับเรด เลเบิ้ล ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดวิสกี้ เซกเมนต์พรีเมียม แสตนดาร์ด และเป็นสินค้าแบรนด์ดังของริชมอนเด้ค่ายคู่แข่งอีกด้วย

แ ว ะ พั ก ช ม โฆ ษ ณ า ดี ๆ กั น สั กเ รื่ อ ง

วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

07 แบบฟอร์มและคำอธิบายการเขียนแผนรณรงค์

ชื่อโครงการ

มีวิธการตั้งชื่อ ๒ ลักษณะ คือ ต้องสื่อสารให้เกิดความเข้าใจและชัดเจนในทันที เช่น โครงการรณรงค์ลดโลกร้อน / ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง/ป้องการการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น/ต่อต้านยาเสพติด/รักษาสิ่งแวดล้อม/งดสูบบุหรี่

หรือตั้งชื่อโครงการให้เกิดความอยากรู้ โดยใช้คำสั้น ง่าย กระชับ ในลักษณะของ Creative Word เช่น โครงการกล่องวิเศษ

หน่วยงานที่รับผิดชอบ

กรณีศึกษานี้ให้ใช้ชื่อ นักศึกษาชั้นปีที่ ( ) โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

กลุ่ม (.....ให้ตั้งชื่อกลุ่มที่สอดคล้องกับชื่อโครงการ จะเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยก็ได้......)

ระยะเวลาดำเนินการ

ส่วนนี้ให้ระบุวันเริ่มต้นโครงการจนถึงวันประเมินผลโครงการ เช่น เริ่มต้นประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ สิ้นสุดโครงการวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๓ และประเมินผลโครงการแล้วเสร็จวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๓๐

ดังนั้นระยะเวลาดำเนินการ คือ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ ถึง ๓๐ เมษายน ๒๕๕๓

หลักการและเหตุผล

เนื้อหาส่วนนี้เป็นส่วนที่เขียนยากที่สุด เพราะเป็นการสรุปความคิดทั้งหมดของโครงการ (Conceptual Frame Work) ซึ่งไม่ควรมีความยาวเกินกว่า ๑๐ บรรทัด

ตัวอย่างการเขียบนแผนงานรณงค์โครงการ กล่องวิเศษ แผนดี กล่องมาก

ปัจจุบันกล่องยูเอชทีถูกทิ้งลงถังขยะ เผาหรือฝังกลบอย่างน่าเสียดาย เพราะการขาดความเข้าใจในกระบวนการรีไซเคิลกล่องยูเอชทีและวิธีการจัดเก็บจึงเป็นที่มาของการประยุกต์ในการเรียนรู้สู่โรงเรียน
โครงการกล่องวิเศษแผนดี กล่องมากเป็นโครงการด้านสิ่งแวดล้อมโดยความสนับสนุนของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตสิต ร่วมกับ บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด และ เครือเนชั่น ที่มุ่งส่งเสริมความรู้เรื่องกล่องยูเอชทีควบคู่กับการพัฒนากิจกรรมสร้าง สรรค์ในระดับเยาวชน เพื่อรณรงค์ให้เกิดการลดปริมาณขยะ และนำกล่องยูเอชทีกลับมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ อันเป็นการจัดการวัสดุเหลือใช้ให้เกิดคุณค่าในสังคมต่อไป

วัตถุประสงค์

การเขียนวัตถุประสงค์ของโครงการ ควรมีไม่เกิน ๓ ข้อ เนื่องจากจะเป็นตัวชี้วัดการประเมินผลโครงการ หากเขียนวัตถุประสงค์จำนวนมาก อาจไม่สามารถทำตามวัตถุประสงค์ได้หมด ซึ่งจะปรากฏอยู่ที่ขั้นตอนการประเมินผล ถ้าเป็นเช่นนั้นการประเมินผลโครงการอาจจะ ไม่ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ได้

ตัวอย่าง

๑. เพื่อส่งเสริมความรู้เรื่องกล่องยูเอชทีควบคู่กับการพัฒนากิจกรรมสร้างสรรค์ในระดับเยาวชน

๒. เพื่อรณรงค์ให้เกิดการลดปริมาณขยะ และนำกล่องยูเอชทีกลับมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่

๓. เพื่อนำผลที่ได้รับจากโครงการไปเป็นพื้นฐานการสร้างงานวิจัยในมิติอื่น ๆ

ถ้าเขียนหลักการและเหตุผลได้ดีและครอบคลุม จะสังเกตได้ว่าวัตถุประสงค์ของโครงการ เป็นข้อความส่วนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในหลักการและเหตุผล

เป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จ

ในส่วนนี้เป็นการประมาณการและประเมินคุณค่าของโครงการ จะสำเร็จหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการประเมินตนเองล่วงหน้า โดยปกติจะวางเป้าหมายเป็น ๒ ส่วน คือ

๑. เป้าหมายและความสำเร็จที่สามารถระบุเป็นจำนวนที่นับได้ เช่น มีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า ( ......) คน / มีสื่อมวลชนเข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า (......) ฉบับ / มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโทรทัศน์ไม่น้อยกว่า (.......) ช่อง / ผู้เข้าร่วมโครงการมีความพึงพอใจในการดำเนินโครงการ คิดเป็น (.......) เปอร์เซ็น (ประเด็นสุดท้ายนี้มีความสำคัญเพราะเกิดจากข้อมูลที่ได้จากการวิจัยเชิงปริมาณ)

๒. เป้าหมายและความสำเร็จที่เป็นคำตอบเชิงคุณภาพ ซึ่งจะได้จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการ เช่น สื่อมวลชน / ผู้เข้าร่วมงาน / ผู้สนับสนุนโครงการ ฯลฯ มักจะตั้งคำถามเกี่ยวกับความพึงพอใจและความคิดเห็นอื่น ๆ ด้วยคำถามปลายเปิด เช่น สื่อมวลชนมีความพึงพอใจในการดำเนินโครงการมากที่สุด (มาก/ปานกลาง/น้อย เพราะ.........................................)

กิจกรรม ระยะเวลา สถานที่แ ละผู้รับผิดชอบ

ที่

กิจกรรมในโครงการและกิจกรรมที่สามารถนำไปสู่ความสำเร็จตามตัวบ่งชี้

ระยะเวลาดำเนินการ

สถานที่

ผู้รับผิดชอบ

ในการดำเนินงานส่วนนี้ เปรียบเสมือนหัวใจของโครงการ เพราะจะเกิดจากครีเอทีฟ เพื่อการสร้างสรรค์กิจกรรม ให้ตรงกับหลักการและเหตุผล ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ให้ตรงกับเป้าหมายและดัชนีชี้วัด

งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการ

เงินงบประมาณ………………………………………..บาท

เงินนอกงบประมาณ………………………………….....บาท

(ให้ระบุรายละเอียด)

ที่

กิจกรรม/รายละเอียดการใช้เงินงบประมาณ

งบดำเนินการ

เงินนอกงบประมาณ

ค่าตอบแทน

ค่าใช้สอย

ค่าวัสดุ

โดยปกติแผนงานรณรงค์จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ และจัดสรรเงินงบประมาณมาให้ดำเนินการ เช่น โครงการรณรงค์สำนึกรักบ้านเกิด ของ ดีแทค ผูบริหารจะจัดเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการให้ จำนวน (......) ล้านบาท หากเป็นเช่นนี้ จะเป็นเงินงบประมาณ

แต่ถ้าแผนงานรณรงค์กรณีศึกษาในชั้นเรียนนี้ อาจระบุเงินเป็น ๒ ส่วน คือ เงินงบประมาณจากคณะดำเนินงาน (..........) บาท และเงินนอกงบประมาณ คือ เงินทุนที่ได้รับจากผู้สนับสนุนโครงการ (...........) บาท

กิจกรรมและรายละเอียดการใช้เงิน ให้ตรวจสอบจาก กิจกรรมในโครงการและกิจกรรมที่สามารถนำไปสู่ความสำเร็จตามตัวบ่งชี้ ในตารางบันทึกด้านบน

ส่วนการระบุงบดำเนินการ แยกออกเป็น ๓ ส่วน คือ

ค่าตอบแทน หมายถึง เงินงบประมาณในการจ้างบุคคลในการจัดงาน

ค่าใช้สอย คือ เงินงบประมาณที่ใช้สำหรับการอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ เช่น ค่าโทรศัพท์ / ค่าพาหนะ / การที่พัก / ค่าอาหาร เป็นต้น

ค่าวัสดุ หมายถึง เงินงบประมาณทีใช้ในการซื้อวัสดุอุปกรณ์เพื่อนำมาใช้งาน หรือประกอบในงาน เช่น ค่าผลิตโปสเตอร์ / ค่าผลิตภาพยนตร์โฆษณา

จะสังเกตได้ว่าค่าใช้สอยและค่าวัสดุมีความแตกต่างที่ชัดเจนอยู่ ๑ ประการ คือ ค่าใช้สอยใช้แล้วหมดไป ค่าวัสดุใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก

การประเมินผล

ตัวบ่งชี้ความสำเร็จ

วิธีการประเมิน

เครื่องมือที่ใช้

ผลผลิต (Outputs)

การสังเกต/การสัมภาษณ์/การตรวจสถิติ เอกสาร

แบบการสังเกต /แบบสัมภาษณ์ / แบบบันทึกสถิติ

(Outcomes)

การสำรวจความพึงพอใจ

แบบสัมภาษณ์/แบบสำรวจความพึงพอใจ

การอนุมัติโครงการ

ลงชื่อ ผู้เสนอโครงการ (๑ คน)

(……………………………….)

ลงชื่อ ผู้เห็นชอบโครงการ (มากกว่า ๑ คนได้)

(……………………………….)

ลงชื่อ ผู้อนุมัติโครงการ

(……………………………….) (๑ คน)

วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

06 Advertising Campaign : การกำหนดยุทธวิธี


06

การกำหนดยุทธวิธีในการสร้างสรรค์การรณรงค์

กลยุทธ์การตลาดจะบอกรายละเอียดว่าวัตถุประสงค์ทางการตลาดแต่ละอย่างนั้น เราจะใช้วิธีการอย่างไร เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ในขณะที่วัตถุประสงค์ทางการตลาดที่เรากำหนดนั้นต้องมีความเฉพาะกำหนดขอบเขต ต่างๆ ชัดเจน และเกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมการซื้อของบริโภคนั้น กลยุทธ์การตลาดกลับมีความหมายกว้างกว่าและจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของแผนตลาด กำหนดการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ของสินค้า (Product Positioning) กลยุทธ์การตลาดและยังจะใช้เป็นกรอบอ้างอิงในการพัฒนาโปรแกรมด้วยส่วนผสมการ ตลาด (Marketing Mix) อีกด้วย

ธุรกิจสามารถกำหนดกลยุทธ์ต่างๆ มากกว่า 1 กลยุทธ์ โดยพิจารณาจากหัวข้อต่างๆ ดังนี้

1. กลยุทธ์การสร้างตลาดหรือแย่งชิงส่วนตลาด (Build the market or steal market share)

ในการพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดในแผนการตลาดนั้น เราต้องมีการตัดสินใจอย่างชัดเจนว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายยอดขายรวมนั้น เราจะใช้กลยุทธ์อย่างไร ระหว่างกลยุทธ์การสร้างตลาด (Build the market) และกลยุทธ์แย่งส่วนครองตลาด (Steal share) จากคู่แข่งขัน

การสร้างตลาด (Build market) เหมาะกับสถานการณ์สำหรับประเภทสินค้าใหม่ ขณะที่งานตลาดในปัจจุบันยังมีขนาดเล็ก และศักยภาพของผู้ซื้อยังมีสูง ขณะที่คู่แข่งขันยังไม่มาก บริษัทที่ลงสู่ตลาดนี้ และใช้วิธีการสร้างตลาดขึ้นมา ส่วนใหญ่จะเป็นผู้นำตลาดนี้ ตัวอย่างเช่น มิลเลอร์ไลท์เบียร์ เป็นผู้สร้างตลาดเบียร์รสอ่อน เป็นต้น กลยุทธ์การสร้างตลาดเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาและเงินตราและความพยายามโดยเริ่ม ตั้งแต่การพัฒนาความต้องการของลูกค้า และพยายามทำให้เขาซื้อสินค้าของเรา

การแย่งชิงส่วนตลาด (Steal market share) เป็นการแย่งส่วนตลาดจากคู่แข่งขัน ด้วยการเสนอสินค้าหรือข้อเสนอที่ดีกว่าหรือเหนือกว่าคู่แข่งขัน นั่นหมายความว่ากลุ่มเป้าหมายของเรากับกลุ่มเป้าหมายของคู่แข่งขันนั้น มีความใกล้เคียงกัน และต้องสื่อสารให้กลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ทราบถึงประโยชน์และคุณค่าต่างๆ ของสินค้าเราซึ่งเหนือกว่าคู่แข่งขัน

ตัวอย่างกลยุทธ์

สร้างตลาดน้ำมันพืชที่สกัดจากข้าวโพด และเจาะกลุ่มเป้าหมายระดับสูง ซึ่งใส่ใจในสุขภาพ โดยการแย่งชิงส่วนคลาดระดับบน (premiums) ของตลาดน้ำมันพืช

2. กลยุทธ์ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และกลยุทธ์เฉพาะท้องถิ่น (National, Regional and Local Marketing Strategies)

กลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยให้กิจการตัดสินใจว่าจะใช้กลยุทธ์การตลาดระดับต่างๆ หรือจะใช้กลยุทธ์แบบผสมผสานระหว่างระดับชาติกับระดับท้องถิ่น

ตัวอย่างกลยุทธ์

พัฒนากลยุทธ์รวมจากสำนักงานกลางให้เป็นกลยุทธ์ระดับชาติ และสนับสนุนโดยใช้โปรแกรมการตลาดในแต่ละท้องที่ โดยสำนักงานขายแต่ละเขตเป็นผู้ดำเนินงาน

พัฒนาโปรแกรมการตลาดโดยใช้แคมเปญโฆษณา และการส่งเสริมการตลาดสำหรับดีลเลอร์เหมือนกันหมดทั่วประเทศ

3. กลยุทธ์ฤดูการขาย (Seasonality Strategies)

กิจการต้องตัดสินใจการใช้งบประมาณการตลาดและโฆษณาให้สอดคล้องกับช่วงการขาย ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงของปีด้วย

ตัวอย่างกลยุทธ์

เนื่องจากช่วงขายสินค้าเป็นช่วงสั้นมาก เราควรพัฒนากลยุทธ์การตลาดและโปรแกรมการให้ข่าวสารเพื่อให้เกิดยอดขายเร็ว ที่สุด ตั้งแต่ต้นฤดูการขาย และให้เกิดการซื้อซ้ำมากที่สุด

4. กลยุทธ์คู่แข่งขัน (Competitive Strategies)

เมื่อเราพิจารณาแล้วเห็นว่า คู่แข่งขันโดยตรงของเรามีผลต่อขนาดส่วนครองตลาดที่ลดลง หรือคู่แข่งก้าวมารุกล้ำตำแหน่งผลิตภัณฑ์ (Unique Positioning) ของเราแล้ว เราจำต้องพัฒนากลยุทธ์การตลาดเพื่อการแข่งขันในแผนของเรา

ตัวอย่างกลยุทธ์

เพื่อเป็นการสกัดกั้นมิให้คู่แข่ง A เข้ามาในตลาด เราต้องใช้กลยุทธ์ เสริมการตลาดอย่างหนักหน่วงในช่วงการเปิดตัวสินค้าของคู่แข่ง A โดยมุ่งไปยังเขตการขายที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของคู่แข่ง A

5. กลยุทธ์เพื่อตลาดเป้าหมาย (Target Market Strategies)

จากการที่มีการกำหนดตลาดเป้าหมายอย่างชัดเจน เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักและกลุ่มเป้าหมายรอง เราต้องมีการพิจารณาว่าจะเข้าถึงหรือมุ่งเน้นตลาดเป้าหมายเหล่านี้ได้อย่างไร

ตัวอย่างกลยุทธ์

มุ่งไปที่กลุ่มผู้ใช้หลัก (Heavy User) โดยเสนอด้วยสินค้าที่มีประสิทธิภาพ

มุ่งกลุ่มเป้าหมายไปที่คุณแม่ซึ่งมาซื้อสินค้าพร้อมกับลูกๆ โดยเสนอรองเท้ากีฬาที่มีคุณค่าสำหรับเด็กๆ พร้อมๆ กับรองเท้าลำลองสำหรับคุณแม่ด้วย

กลุ่มเป้าหมายหลักนั้น เราจะใช้โปรแกรมส่วนผสมการตลาดทุกส่วน ขณะเดียวกันกลุ่มเป้าหมายรองเราใช้วิธีการสร้างแรงจูงใจโดยส่งเสริมการขาย ผ่านร้านค้า

สิ่งที่ต้องพิจารณาสำหรับกลยุทธ์เพื่อตลาดเป้าหมาย (Target Market Strategies) คือ

-ขนาดของตลาด

-อัตราการเติบโตของตลาดส่วนนี้

-คู่แข่ง

-ความจงรักภักดีที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์

-งบโฆษณาที่ต้องใช้

-ส่วนแบ่งทางการตลาดที่ต้องตีเข้าไป

-อัตราการขายได้ของบริษัทในตลาดนี้

-ผลกำไรที่คาดหวัง

6. กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ (Product Strategies)

การพิจารณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้นจะมีการพิจารณากลยุทธ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ใหม่ กลยุทธ์ทางการขยายสายผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ และกลยุทธ์การเลิกผลิตภัณฑ์ หรือการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่อ่อนแอ การใช้กลยุทธ์เพื่อฟื้นผลิตภัณฑ์ หรือยืดอายุของสายผลิตภัณฑ์

ตัวอย่างกลยุทธ์

ขยายวิธีการใช้ใหม่ๆ ของผลิตภัณฑ์เรา เพื่อกลุ่มเป้าหมายใหม่ คือ กลุ่มผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 55 ปี ขึ้นไป

ละทิ้งผลิตภัณฑ์ซึ่งยังไม่สามารถทำกำไรนับตั้งแต่เมื่อนำผลิตภัณฑ์นั้นๆ สู่ตลาดแล้วเป็นเวลา 5 ปี

7. กลยุทธ์ตรายี่ห้อ (Branding Strategies)

ธุรกิจจะต้องทำการตัดสินใจเกี่ยวกับชื่อยี่ห้อ ตรายี่ห้อ เอกลักษณ์หรือตัวบ่งชี้แสดงตัวสินค้า

ตัวอย่างกลยุทธ์

ให้พัฒนาชื่อใหม่ของสินค้าเรา โดยชื่อดังกล่าวต้องสะท้อนถึงคุณภาพที่เหนือกว่า

8. กลยุทธ์การบรรจุภัณฑ์ (Packaging Strategies)

การตัดสินใจรูปแบบบรรจุภัณฑ์และประเภทวัสดุของบรรจุภัณฑ์มักจะใช้กับสินค้า อุปโภคบริโภคที่พัฒนามาใหม่ หรือเมื่อมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสินค้าใหม่

ตัวอย่างกลยุทธ์

เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใหม่เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นอย่างชัดเจน ณ จุดขาย

9. กลยุทธ์ราคา (Pricing Strategies)

เราต้องกำหนดว่าจะตั้งราคาแบบใด กลยุทธ์ราคาสูง หรือราคาที่สอดคล้องกับตลาดหรือคู่แข่งขัน หรือตำแหน่งผลิตภัณฑ์ขอสินค้านั้นหรือไม่

ตัวอย่างกลยุทธ์

ตั้งราคาสูงเพื่อสอดคล้องกับตำแหน่งผลิตภัณฑ์ของสินค้าที่สูง

ตั้งราคาต่ำสำหรับช่วงฤดูกาลที่ยอดขายน้อย และตั้งราคาต่ำกว่าผู้นำเล็กน้อยในช่วงฤดูกาลที่ขายดี

10. กลยุทธ์กระจายสินค้า และการครอบคลุมตลาด (Distribution of Product/ Coverage Strategies)

การตัดสินใจมีความแตกต่างกัน ขึ้นกับประเภทของสินค้าว่าเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค หรือสินค้าองค์กร หรือสินค้าบริการ สินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าองค์กรต้องพิจารณาว่า จะวางจำหน่ายที่จุดใดจึงจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ด้วยรูปแบบของร้านค้า หรือจุดจำหน่ายสินค้าอย่างไร ธุรกิจค้าปลีกและบริการมักจะตัดสินใจว่า วัตถุประสงค์การตลาดที่ตั้งไว้นั้นจะบรรลุโดยใช้ช่องทางการขายที่มีอยู่หรือ ไม่ จำเป็นต้องเพิ่มร้านค้าใหม่ๆ หรือช่องทางใหม่ๆ หรือไม่

ตัวอย่างกลยุทธ์

ไม่ขยายช่องทางใหม่ๆ อีกจนกว่าจะเจาะกลุ่มตลาดเดิมได้ครบถ้วนแล้ว

ขยายการกระจายสินค้าให้มากขึ้น โดยเน้นที่เขตตะวันออกเฉียงเหนือ

11. กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด (Promotion Strategies)

กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาดจะต้องประสานกับแผนการตลาดโดยรวม และกำหนดแผนการส่งเสริมการตลาดที่เฉพาะเจาะจง

ตัวอย่างกลยุทธ์

ใช้กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาดให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดกับคู่ค้า เพื่อให้คู่ค้าสนับสนุนตราสินค้าของเรา

ใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการตลาดให้เกิดผลสูงสุดเพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้า ของ เราในช่วงระยะเวลาที่ยอดขายต่ำของปี

12. กลยุทธ์การใช้จ่ายทางการตลาด (Spending Strategies)

กลยุทธ์ดังกล่าวจะบอกรายละเอียดค่าใช้จ่ายทางการตลาดนั้นว่า มีการใช้อย่างไร เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการตลาดอะไรบ้าง ต้องการเพิ่มยอดขายของตรายี่ห้อ ยอดขายของร้านค้า หรือยอดขายในเขตการขาย หรือใช้จ่ายไปเพื่อดึงดูดลูกค้าให้ๆ ให้มาลองใช้ หรือลองซื้อสินค้าตรายี่ห้อของเรา ในการตัดสินใจเรื่องค่าใช้จ่ายนี้ เราต้องพิจารณาว่าจะใช้ในระดับใด สำหรับตรายี่ห้อตัวใด หรือตลาดใดหรือเขตการขายใด

การพิจารณาค่าใช้จ่ายโดยรวม จัดว่าเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน ค่าใช้จ่ายที่อยู่ในแผนนั้น สอดคล้องกับตัวเลขค่าใช้จ่ายในอดีตอย่างไร เพิ่มขึ้นหรือลดลงด้วยเหตุผลอะไร รายละเอียดของค่าใช้จ่ายและงบประมาณจะปรากฎอยู่ในส่วนงบประมาณของแผนการตลาด

ตัวอย่างกลยุทธ์

เพิ่มค่าใช้จ่ายด้านโฆษณาคิดเป็นร้อยละของยอดขายที่ตั้งไว้ โดยเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายของผู้นำตลาด

ใช้จ่ายงบการตลาดอย่างมาก ยังสินค้าหลัก 3 ตัวของบริษัท เพื่อสร้างศักยภาพทางการตลาดสูงสุด

13. กลยุทธ์การใช้พนักงานขายและการปฏิบัติการของพนักงานขาย (Personal Selling / Operation Strategies)

เมื่อพิจารณาว่าโครงสร้างการขายและการบริหารงานขายมีความเหมาะสมมากเพียงต่อ แผนการตลาด

ตัวอย่างกลยุทธ์

กำหนดตัวเลขอัตราส่วนการขาย (เช่น จำนวนลูกค้าที่คาดหวัง Prospect นั้นเมื่อเทียบกับจำนวนที่กลายเป็นลูกค้าที่ซื้อสินค้า หรือจำนวนลูกค้าที่ซื้อสินค้าเมื่อเทียบกับลูกค้าที่เข้ามาในห้าง) เพื่อไว้ตรวจสอบถึงประสิทธิภาพของพนักงานขาย

คิดค้นโปรแกรมการให้ผลตอบแทนการขาย (incentive program) ใหม่ๆ เพื่อเป็นรางวัลแก่พนักงานขายที่ทำยอดขายตามเป้า

14. กลยุทธ์ข่าวสารที่สื่อทางโฆษณา (Advertising Message Strategies)

นักการตลาดต้องทราบถึงจุดเน้นที่จะส่งข่าวสารไปยังผู้บริโภค และจะใช้โฆษณาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการตลาดอย่างไร

ตัวอย่างกลยุทธ์

ใช้โฆษณาเพื่อการสร้างภาพลักษณ์ (Image) ของสินค้าเพื่อหวังยอดขายระยะยาว และความจงรักภักดีต่อตรายี่ห้อสินค้า (Brand loyalty)

เน้นการใช้โฆษณาเพื่อการส่งเสริมการขาย โดยหวังยอดขายช่วงสั้นๆ

15. กลยุทธ์การใช้สื่อโฆษณา

การเลือกสื่อโฆษณามีความสำคัญยิ่ง เพราะจะเป็นทิศทางในการกำหนดกลยุทธ์การตลาดอื่นๆ เช่น กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์คู่แข่งขัน และกลยุทธ์การใช้จ่ายทางการตลาด

ตัวอย่างกลยุทธ์

การใช้สื่อโฆษณาใหม่ๆ เพื่อสร้างความตระหนักในตรายี่ห้อ (Awareness) และสร้างให้เกิดการลองใช้สินค้า

ลงทุนมากขึ้นในสื่อโฆษณานี้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ และ สามารถเจาะตลาดกลุ่มนี้ได้

16. กลยุทธ์การบริหารและการจัดการสินค้า (Merchandising Strategies)

กลยุทธ์นี้จะกล่าวถึงการกำหนดรูปแบบและการจัดการของสถานที่และจุดที่แสดง สินค้า, แผ่นพับโฆษณา, เอกสารการขาย, บุคลากร ณ จุดขาย การจัดงานต่างๆ เพื่อสนับสนุนการขาย

ตัวอย่างกลยุทธ์

การจัดแต่งหน้าร้านอย่างน่าดึงดูดใจ เพื่อดึงลูกค้าเข้ามาในร้าน

สนับสนุนเพิ่มพนักงานขาย พร้อมกับเอกสารและวัสดุอื่นๆ เพื่อให้มีการปิดการขาย

17. กลยุทธ์การให้ข่าวสาร (Publicity)

เราต้องพิจารณาว่าการสื่อข่าวสารและการประชาสัมพันธ์นั้นมีความจำเป็นต่อ กิจการของเราหรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องจำเป็นควรกำหนดกลยุทธ์ดังกล่าวในแผนการตลาดด้วย

ตัวอย่างกลยุทธ์

มีการร่วมมือกับสื่อบางสื่อ เพื่อจัดเทศกาลในโอกาสพิเศษ

กำหนดโปรแกรมการเปิดตัวการบริการรูปแบบใหม่ของธุรกิจเรา

18. กลยุทธ์การวิจัยและพัฒนา (Research and Development)

ธุรกิจต่างๆ ล้วนแต่ต้องการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับยอดขายที่เพิ่มขึ้น การทำวิจัยและพัฒนาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความสำเร็จทางธุรกิจ แม้ว่าจะต้องใช้การวางแผน การทดสอบ และการดำเนินงาน ตลอดจนเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่จะทำให้ธุรกิจเรายืนอยู่แถวหน้าในอุตสาหกรรมได้ และสามารถต่อสู้กับคู่แข่งขัน ถ้าเรากำหนดว่าจะการวิจัยและพัฒนา เราต้องทราบว่าจะทำการวิจัยและทดสอบอะไรบ้าง เช่น สินค้าใหม่, บรรจุภัณฑ์ใหม่, หรือประชาสัมพันธ์ใหม่ของโปรแกรมการตลาดต่างๆ

ตัวอย่างกลยุทธ์

กำหนดโปรแกรมการทดสอบตลาด เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ

19. กลยุทธ์การหาข้อมูลทางการตลาด (Marketing Research Strategies)

ธุรกิจใช้วิจัยตลาดเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาที่เฉพาะทางการตลาดบางอย่าง ขณะเดียวกันมักจะช่วยเพิ่มยอดขายและบรรลุถึงวัตถุประสงค์อีกด้วย อีกทั้งใช้การวิจัยเพื่อการศึกษาและติดตามพฤติกรรมของผู้บริโภค และใช้ข้อมูลเพื่อเป็นฐานในการเปรียบเทียบการดำเนินงานของเรา เมื่อเทียบกับคู่แข่ง

ตัวอย่างกลยุทธ์

จัดทำโปรแกรมการสำรวจเพื่อศึกษาและติดตามการรับรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้บริโภค

กล่าวโดยสรุป เมื่อถึงขั้นตอนนี้เราจะต้อง

ทบทวนปัญหาและโอกาสทางการตลาด

ทบทวนวัตถุประสงค์ทางการตลาดที่กำหนดไว้

พัฒนากลยุทธ์ทางการตลาด ซึ่งรายละเอียดต่างๆ ของกลยุทธ์เราจะมีการพูดถึงอีกครั้งหนึ่งในช่วงที่กำหนดเครื่องมือส่วนผสม ทางการตลาด (Marketing Mix Tool)

-บริษัทสามารถบริหารจัดการเงินสดได้ดีขึ้น และช่วยลดจำนวนเงินทุนหมุนเวียนที่จำเป็นต้องใช้ ความรวดเร็วคล่องตัว

-ช่วยลดระยะเวลาการทำงาน ของพนักงาน ปริมาณของวัสดุที่จำเป็นต้องใช้และการจัดทำรายการสินค้า ซึ่งสามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้

-ช่วยในการส่งของให้ลูกค้า จากข้อมูล ข่าวสาร ที่ติดต่อกันระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ การทำให้เรารู้ว่ามีของ และสามารถส่งของได้แน่นอนทำให้ไม่ต้องเก็บสต๊อคมากซึ่งสิ้นเปลือง

-ด้านการวางแผนและกลยุทธ์ทางธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น สร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า สร้างสัมพันธภาพที่ดีร่วมกัน ส่งผลให้บริษัทได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น อำนาจในการแข่งขันสูงขึ้น ฯลฯ