บอกไว้ก่อนนะว่า ที่เรียนตอนเช้ากับที่เรียนตอนบ่าย เนื้อหา "ไม่เหมือนกัน"
เอาล่ะสิ...คนสอนเลือกที่รักมักที่ชัง รักตอนเช้ามากกว่าตอนบ่ายหรือเปล่า ?
โหวตโนนนนนนนน เอ๊ย ... โน โน ไม่ใช่เช่นนั้น ที่สอนเนื้อหาต่างกันเพราะว่า
จะได้ประเมินสถานการณ์เนื้อหาว่าสนุกสนานเพียงพอที่จะสู้กับเดี่ยว ๙ ได้มั้ย?
คืออย่างนี้ครับ...การมี ๒ ตอนเรียน ถ้าอยากสอนสบายก็เตรียมสอนครั้งเดียว
แล้วพูดเหมือนกัน ๒ ครั้ง มันก็น่าจะดีในแง่ผู้สอนที่จะรู้ข้อบกพร่อง ทั้งในแง่ของเนื้อหา
กิจกรรมและจังหวะในช่วงเวลาต่าง ๆ ที่วางลงไปในแต่ช่วงเวลา
ซึ่งจะเกิดความชำนาญในการสอนมากขึ้น
แต่ผมเลือกจะเตรียมเนื้อหาไว้ ๒ แบบใน ๑ สัปดาห์แล้ว "เลือกใช้" ตามแบบใดแบบหนึ่ง
ตามสถานการณ์ แบบนี้คนสอนจะสนุกกับห้องเรียนทั้งตอนเช้าและบ่าย
และไม่ต้องห่วง เนื้อหาของเช้าวันนี้จะนำไปถ่ายทอดให้ตอนเรียนบ่าย
และเนื้อหาที่สอนตอนบ่ายวันนี้ จะถูกสลับไปใช้กับตอนเรียนเช้าในสัปดาห์หน้า
เห็นยัง ๆ ๆ ๆ ว่า "คนสอนจะสนุกและไม่เบื่อ" ที่ไม่ต้องพูดซ้ำกัน ๒ ครั้ง
..........
มาเข้าเรื่องราวหลังห้องกันดีกว่า ตอนเช้าวันนี้เริ่มต้นที่เวลา ๐๙.๑๗ น.
ช้ากว่าเวลานัด ๒ นาที มีเรื่องที่น่ายินดี คือ ห้องเรียนวันนี้ขึ้นป้าย sold out
ที่นั่งเต็มตั้งแต่ ๐๙.๐๐ น. นับเป็นความปลาบปลื้มยินดีเป็นกำลังใจแรงงานให้กับคนสอน
อย่างยิ่ง
มีคนซิ่งมอเตอร์ไซค์มาอย่างด่วน เพราะกลัวโดนเช็คชื่อด้วยนะเอ้า...!!!!
เนื้อหาของวันนี้ ผมให้นักศึกษาพรีเซ้นต์หน้าชั้น เกือบครบทุกคน
อ่ะนะ...โด่เอ๊ย พรีเซ้นต์หน้าชั้น ไม่เห็นแปลก / ใครคิดแบบนี้ลองไปถามนักศึกษา
ที่ต้องพรีเซ้นต์วันนี้ดูครับว่า วินาทีที่ผมบอกว่าให้พรีเซ้นต์เค้าหน้าจ๋อยเจื่อนกันขนาดไหน
ก็เพราะเป็นการพรีเซ้นต์ที่ผมไม่ได้บอกให้เตรียมข้อมูลมาก่อน
"ขอให้นักศึกษาสงบจิตใจสัก ๕ นาที หายใจลึก ๆ เพราะวันนี้จะต้องพรีเซ้นต์หน้าชั้น"
"ง่า......อ่า......เอ้อออออออ ... อุ๊ย ..."
ฮา...ให้นึกหน้าคนกำลังจะตายไว้เถอะครับ มันประมาณนั้นเลย
"เป็นไง..รู้สึกไงบ้าง รู้เหมือนกำลังจะตายมั้ย" < ดูเหมือนคนสอนอย่างผมซาดิสม์มั้ยครับ?
ที่ผมทำเช่นนี้ก็เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา การให้นักศึกษาเตรียมพรีเซ้นต์
(ที่ไม่ใช่การพรีเซ้นต์ใหญ่แบบเก็บคะแนนสัก ๒๐ คะแนน) จะเป็น "เรื่องร้าวราน" ทั้งคนสอนคนเรียนมาก
เพราะว่า...นักศึกษาจะเริ่มเตรียมงานพรีเซ้นต์ก่อนแค่วันเดียว (เชื่อผมดิ๊...วันเดียวจริงๆ)
เพราะฉะนั้นอย่ากระนั้นเลย ให้พรีเซ้นต์สด ๆ แบบนี้แหละ อย่างน้อยวิชาวาทวิทยาการโฆษณา
ที่บากบั่นเรียนกันมา ก็จะได้เอามาใช้บ้าง โดยเฉพาะในแง่มุมของการพูดเพื่อให้เกิด "จินตนาการ"
ผมหยิบเอาหลักการของ "ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง" ควายเซ็นเตอร์ อุ๊ย...Child Center >///<
มาใช้ร่วมด้วย โจทย์ของผม คือ ให้นักศึกษาเล่าถึงปกเทปและซีดีที่นักศึกษาชอบหรือประทับใจ
โดยต้องเล่าให้เพืื่อนๆ เห็นภาพว่า
"บรรยากาศของปกเทปซีดีเป็นอย่างไร / ใช้สีอะไร / ตัวนักร้องแอคชั่นแบบไหน /
มีอะไรที่น่าสนใจในปกนั้นบ้าง"
ผมเชื่อว่าการที่พวกเขาได้เลือกพูดเรื่องที่เค้าชอบ จะทำให้ "ใจ" ที่ฝ่อลงไปตอนที่รู้ว่า
ต้องนำเสนอหน้าห้อง "พองโต" กลับมาอีกครั้ง
เท่าที่จำได้พวกเค้าเลือกศิลปินนักร้องตามนี้ครับ
โว้วววว...ไชน่าดอลล์
สาวเสียงดี แปลก อย่างลุลาก็มากับเค้าด้วย
พี่ป๊อดนำทีมโมเดิร์นด๊อก มาส่องแดด ในอัลบั้มแดดส่อง
ไทรอัมพ์คิงด้อม หันหลังโชว์ผิวขาวเนียน ๆ
เอาอีกสักอัลบั้มนะ....อืมม์ ลืม ๆ ๆ ๆ อ่อ...พี่ป้างนครินทร์ก็มาด้วย
แล้วก็ยังมีเอ็นโดรฟิน / ว่านเอเอฟ๒ / บอดี้สแลม / นภพรชำนิ / ซิงกูล่าร์ / ซิลลี่ฟูล
ดีทูบี / กรูฟไรเดอร์
วงเมืองนอกก็มีนะครับ..แบลคอายพีส์ / และทูพีเอ็ม
(เว้ย....ทำไมรูปมันไม่เท่ากันอย่างแรงหว่า.....)
เอาน่า รูปจะเท่าไม่เท่าไม่รู้ ขอให้มีรูปประกอบมาก่อนเป็นเบื้องต้นละกัน
ศิลปินพวกนี้ถึงจะ "กากเกรียน" ในสายตาคนที่ไม่ชอบอย่างไร แต่เช้าวันนี้พวกเค้าทั้งหมดกำลัง
ทำหน้า "ครูผู้เงียบงัน" ในห้องสอนของผม ที่แหกปากแทนพวกศิลปินอยู่ ๒ ชั่วโมง
ขอแสดงความนับถือมา ณ โอกาสนี้
.......................................
ผมว่านักศึกษามีความสุขที่ได้พูดได้แสดงออกในสิ่งที่เค้าชื่นชอบ ระหว่างการพรีเซ้นต์
มีเรื่องสนุกๆเกิดขึ้นเป็นระยะๆ จำสีปกไม่ได้บ้าง / จำชื่ออัลบั้มไม่ได้บ้าง /
จำศิลปินที่มีมากกว่า๑คนสลับที่บ้าง
แต่ท้ายที่สุดพวกเค้าก็สามารถอธิบายภาพในจินตนาการ ที่เพื่อน ๆ หลายคนไม่เคยเห็น
แผนครึ่งแรกของผม ในเช้าวันนี้นักศึกษาจึงได้สาระของการเรียนไปหลายเรื่อง
"ทบทวนวิชาที่เกี่ยวข้อง + นักศึกษาเป็นศูนย์กลางของการเรียน + มีความสุขกับสิ่งที่กำลังทำ
+ มีความสุขกับชั้นเรียน"
สำหรับคนสอน ๒ ข้อหลังเป็นความสุขของคนที่ยืนหน้าชั้นเรียนที่สุด
ครึ่งเวลาหลัง...ปรี๊ดดดดดดดดดดดดดดดดด
...................................
ผมให้นักศึกษาจับกลุ่มวิเคราะห์สิ่งทีืเป็นจุดร่วมของการออกแบบปกเทปหรือซีดี
มีคำถามหลัก ๆ ๓ ข้อให้พวกเค้าช่วยกันหาคำตอบ
๑. มีกี่ปกที่การออกแบบไม่สนใจศิลปินนักร้อง (จากตัวอย่างข้างบนก็จะพบว่าอัลบั้มหัวโบราณ
ของป้างนครินทร์ เข้าข่ายคำตอบนี้)
๒. การออกแบบปกใช้สีอะไรเป็นสีพื้น (ผลการรวบรวมเบื้องต้นพบว่าใช้สีดำเป็นส่วนใหญ่)
๓. มีกี่ปกที่การออกแบบไม่มีตัวอักษรใด ๆ กำกับ (พบว่ามีปก "แดดส่ิอง" ของพี่ป๊อดนั่นไง)
จริง ๆ แล้วมีคำถามอีกเยอะ ที่สามารถตั้งเป็นข้อคำถามให้นักศึกษาได้หาคำตอบ
กิจกรรมนี้ดูเผิน ๆ แล้วเหมือนไม่มีอะไรเป็นสาระ
แต่จุดมุ่งหมายจริง ๆ คือ อยากให้นักศึกษาเข้าใจเรื่อง "การวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น"
ก่อนการออกแบบ
มันมีหลักการหนึ่งของคาร์เตอร์ หว่อง* (นักออกแบบอุตสาหกรรมผู้คร่ำหวอดในวงการ
มากว่า ๑๔ปี ) กล่าวไว้ว่า
"นักออกแบบต้องพบปะพูดคุยกับงานออกแบบของคนอื่นก่อน แล้วจึงค่อยลงมือทำงาน"
โฉมหน้าพี่หว่อง ที่ผมขอนมัสการ
โว้วววว.....สุดยอดของคำนิยาม ที่ผมพยายามหามานาน ว่าพื้นฐานของการออกแบบไม่ใช่การ
หยิบดินสอกระดาษมาขีดเขียนสเก็ตซ์ในสิ่งที่คิด แต่มันเป็นเรื่องที่ต้องค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
ออกมาเพื่อตกผลึกเสียก่อน นมัสการพี่หว่องครับ.....ที่ผมได้นิยามเด็ด ๆ มาใช้สอนได้อีกหลายปี
เมื่อเริ่มวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้้นและสามารถสรุปคำตอบบางอย่างออกมาเป็นตัวเลขได้
"ห้องเรียนห้องนี้กำลังทำวิจัยเล็ก ๆ โดยที่เค้าไม่รู้ตัวว่ากำลังจะได้รู้บางสิ่งบางอย่างที่อีกหลายคนไม่รู้"
เช้าวันนี้...สนุกจนรู้สึกว่าเวลาเดินเร็ว ได้เรียน ได้รู้ ได้ทบทวน และได้รู้สิ่งใหม่ๆ ที่ตัวแทนห้องจะใส่ข้อมูลที่ค้นพบ
มาลงในบล็อกนี้ (หวังว่าอย่างนั้นนะ)
"ทบทวนวิชาที่เกี่ยวข้อง + นักศึกษาเป็นศูนย์กลางของการเรียน + มีความสุขกับสิ่งที่กำลังทำ
+ มีความสุขกับชั้นเรียน + คนเรียนมีความสุข + คนสอนมีความสุข"
อะไรมันจะสุขปานนี้
ดร.วรัตต์ อินทสระ
(วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง)
*อ่่านบทความสัมภาษณ์คาร์เตอร์ หว่องได้ถามลิ้งก์นี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น