

ทุกครั้งที่มีคนกล่าวอ้างถึงคอนเซปต์ “ประชาธิปไตย ๔ วินาที” พร้อมพยายามสอดแทรก
การรณรงค์อย่างเท่ว่าขอให้ประชาชนคนไทยเปลี่ยนแนวคิดเสียใหม่ ให้เป็นประชาธิปไตย
ผมมักจะแอบยิ้มด้วยความเห็นใจเหล่านักรณรงค์เหล่านั้นอย่างสุดซึ้ง( ว่าแต่...เห็นใจแล้วทำไมเอ็งต้องยิ้ม? ) ที่เราร่วมตรวจสอบ ร่วมบริหารประเทศด้วยกันเถอะนะที่รัก
แม้ว่าใจผมจะเห็นด้วยกับแนวคิดนี้อย่างสุดโต่งโสล่งเป็ดก็ตาม แต่ก็ไม่วายอยากจะเสือกตัวเข้าไปวงในแล้วกระซิบที่ข้างหูเขาเบาๆไม่ได้ว่า “คุณพี่ครับ อย่าว่าอย่างโน้นอย่างนี้อย่างนั้นเลยนะครับ แต่ผมคิดว่าฝันที่เป็นจริงของพี่มันแม่งโคตรยากส์เลย”
ซึ่งก็อาจจะได้รับปฏิกิริยาตอบสนองด้วยการทำสีหน้านัยว่า..มาอีกแล้วเรอะนักทำลายความฝันอาชีพ
ผู้รักการโวยวายหน่ายบ่นปนหงุดหงิด แต่ไม่เคยคิดจะช่วยทำให้ดีขึ้น
(เป็นรูปแบบของสีหน้าที่แสดงออกยากมาก หากต้องการสื่อสารข้อมูลให้ครบ 555) คนถูกถามก็คงต้องอดกลั้นแล้วถามกลับไปอย่างสุภาพอ่อนโยนว่า
“ทำไมมึง(น้อง)ถึงคิดเช่นนั่นเล่า?”
....โอ้ว...ผมก็คงเริ่มเผยยิ้มอย่างชัดเจนพร้อมสีหน้าที่แสดงออกให้รู้สึกว่าตัวเองได้รับชัยชนะเล็กๆ
ให้มีคนสนใจในประเด็นที่ขัดแย้งได้พร้อมไปกับการภูมิใจที่จะได้โอกาสเสนอข้อสังเกตแมนๆ
ที่ตัวเองได้แต่เก็บเป็นความลับเอาไว้ในซอกเล็บขบเป็นเวลาหลากหลายปี พร้อมเปล่งวาจา
ไปด้วยโทนเสียงนุ่มลึกน่าเกรงขามแต่แฝงความเข้มแมนราวกับออกจากปากของเฮีย อัล ปาชิโน ใน Serpico (ไอ้ภาพที่นิยมติดกันที่บังโคลนรถบรรทุกนั่นแหละ) ว่า
“ก็อนาคตของชีวิตเขายังเลือกแค่ ๔ วินาที
จะไปหวังอะไรให้เขาเลือกอนาคตของประเทศด้วยเวลามากกว่านั้นละเพ่”
....................................................
ขอกลับไปที่ “ประชาธิปไตย ๔ วินาที” ใครที่ยังไม่คุ้นกับวาทกรรมนี้ มันคือ การเปรียบเปรยว่า
ชนชาติเราให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมกับประชาธิปไตยแค่ ๔ วินาทีเท่านั้น
วินาทีที่ ๑ รับบัตร
วินาทีที่ ๒ กาบัตร
วินาทีที่ ๓ พับบัตร
วินาทีที่ ๔ หย่อนบัตร
หลังจากนั้นอำนาจหน้าที่ถือว่าสิ้นสุด พบกันใหม่อีก ๔ ปีข้างหน้า
เป็นระบอบการปกครองแบบโอลิมปิกเกมส์ (แต่หลังๆมานี้ โอลิมปิกธิปไตยไม่เคยถึง ๔ ปีสักครั้ง T_T)
จากนั้นนักกาเหล่านั้นก็ถือว่าเลือกผู้แทนรัฐบาลมาแล้วนี่ก็ปล่อยเค้าจัดการไปสิ ๔ ปีข้างหน้า
ก็แค่เลือกใหม่ให้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ทั้งๆที่ๆเรามีสิทธิ์เต็มที่ในการ ตรวจสอบ ซักถาม เรียกร้อง ประท้วง
ระหว่างการทำงานของรัฐบาลได้อย่างชอบธรรม ขึ้นอยู่กับระดับความช่างสังเกต ช่างคิด ช่างซัก
ช่างถาม ของประชาชนแต่ละท่าน
ที่จำเป็นต้องช่างแม่งเพราะมีเรื่องของตัวเองที่น่าสนใจกว่า มีหน้าที่ของตัวเองที่ต้องใส่ใจกว่า
มีชีวิตของตัวเองที่สำคัญมากกว่า
...ใช่แล้ว... “ชีวิต”ของตัวเองสำคัญมากกว่า.....สำคัญที่สุดเลยเหอะ...
น่าแปลกครับ สิ่งที่คนเราคิดว่าสำคัญที่สุด แต่กลับมีคนมากกว่าครึ่งในวันนี้ที่ไม่มีความสุข
กับชีวิตของตัวเอง......จะเชื่อไหมครับถ้าผมจะบอกว่า มันมาจากการใช้แนวคิด
“ชีวิตธิปไตย ๔ วินาที” นั่นแหละ
ผมจะเริ่มจากตัวอย่างที่ใกล้เคียงกันอย่างเหลือเชื่อ / ด้วยการเลือกอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม
ครั้งแรกในชีวิตของเรา คือ การสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือ เอ็นทร๊านส์ส์ส์ส์ ที่หลอกหลอนมาในอดีต
(หรือในปัจจุบันสำหรับบางคน) นั่นเอง
เอกสารที่อยู่ตรงหน้าเป็นช่องตัวเลือกของคณะสาขาและมหาวิทยาลัยที่เราจะต้องเลือก “กา”
เด็กน้อยคนนั้นคิดอะไรอยู่?
“คณะอะไรดีวะ พ่อแม่เราอยากให้เข้าอะไร เพื่อนๆที่เรารักมันเลือกอะไรกันวะ สาขาอะไรนิยม
เรียนจบมีงานเปล่าวะ มหาวิทยาลัยอะไรที่เข้าไปไม่อายเขา คะแนนเราจะถึงมั๊ยนะ ตกลงกูจะเป็นอะไรวะ?
เกณฑ์ในการตัดสินใจมีอิทธิพลจากแวดล้อมภายนอกมากกว่าความต้องการภายในอยู่หลายขุมทีเดีย
ซึ่งแหม....ถึงหลายคนจะคิดมาแล้วว่าตัวเองต้องการทำอาชีพอะไรในการเลือกคณะ แต่ถามจริงๆเหอะ
เด็กน้อยคนนั้นรู้อะไรมากไปกว่า วิศวกร คือ สร้างบ้าน แพทย์ คือ หมอรักษาคนไข้รายได้ดี บัญชี คือ มีแต่ตัวเลข รัฐศาสตร์ คือ นักการเมืองบริหารธุรกิจ คือ ผู้บริหาร วิทยาศาสตร์ คือ นักวิทยาศาสตร์
นิเทศศาสตร์ คือ พวกที่สื่อสารกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง (ฮาอีกที)
เด็กน้อยคนนั้นใช้เวลากว่า ๑๒ ปีในช่วงประถมและมัธยมศึกษาในการคร่ำเคร่งเครียดตะบี้ตะบันเรียนให้
คิดเลขเก่ง อ่านภาษาอังกฤษออก ท่องสูตรเคมีได้ ผันวรรณยุกต์เป็น แต่กลับมีความเข้าใจ
ในระดับกำปั้นทุบดินกับวิชาชีพที่ต้องใช้สิ่งเหล่านี้ในอนาคต เรียนเอาเหตุ ไม่เน้นผล
ซึ่งนั่นทำให้เด็กน้อยสามารถตอบถามตัวเองว่า
“โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” ได้อย่างตื้นเขินฉิบหายอยากเป็นหมอเพราะรวย อยากเป็นวิศวกรเพราะเท่
อยากเป็นแอร์เพราะสวย อยากเป็นนักการเมืองเพราะดูมีอุดมการณ์ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการใช้ ๔ วินาที
ในการเลือกคณะ และเลือก “อนาคต” ชีวิตที่เหลือของตัวเอง
เลือกเพียงเพราะรู้แค่นั้น เลือกไปก่อน พอเลือกได้แล้ว....ก็ “ช่างแม่ง”
เรียนไปสิ เลือกมาแล้ว ลองดูก่อน ชอบหรือเปล่าไม่รู้ แต่ต้องเรียนให้จบ
จะเปลี่ยนอะไรขอให้รอ “โอลิมปิกแห่งชีวิต” ครั้งหน้า...อีก ๔ ปี
คุ้นมั้ย ๔ วินาทีแลก ๔ ปี
ความคิดของเด็กน้อยเหมือนจะไม่ได้โตขึ้นเลย จะมีเด็กน้อยสักกี่คนที่รู้ก่อนล่วงหน้าว่า งานที่เขาเลือกนั้นแต่ละวันจะต้องทำอะไรบ้าง ทักษะอะไรบ้างที่ต้องใช้ ความยากอยู่ที่ตรงไหน ตรงกับความชอบและความถนัดจริงๆหรือเปล่า เขาตั้งใจจะทำไปถึงเมื่อไหร่ และจากนั้นจะไปทำอะไรต่อ มันเป็นงานที่จะพาเขาไปสู่ชีวิตที่ต้องการหรือเปล่า?
ส่วนใหญ่ก็ทำงานไปเรื่อยๆ ทำงานไปวันๆ ทำงานไปงั้นๆ ทำงานไปให้มีงานทำ
ลองนับจำนวนเด็กน้อยที่บ่นว่า เบื่อ เครียด เกลียดวันจันทร์ รักวันศุกร์ดูสิ.
เด็กน้อยเริ่มไม่มีความสุขกับชีวิตที่เขาไม่ได้เรียนรู้มาก่อน ไม่ได้พิจารณาล่วงหน้า
ไม่ได้ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ฝืนใช้ชีวิตจวบจนกระทั่งความทุกข์รวมตัวกันประท้วงขับไล่
จนก่อให้เกิดการ “ปฏิวัติชีวิต” และเรียกร้องการเลือกตั้งใหม่
นี่แหละครับขนาดเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิต ยังไม่เต็มใจจะใช้เวลาหาข้อมูล พิจารณาทางเลือก
ประเมินความคิด ตรวจสอบเส้นทางอะไรเลย เพียงแค่รู้สึกอุ่นใจที่เลือกเส้นทางที่มั่นคง
เหมือนเด็กน้อยคนอื่นๆ แล้วจะไปหวังอะไรกับประชาธิปไตย.....
เรื่องที่เด็กน้อยคิดว่า “ไกลตัว”อย่างนั้น (นอกจากเด็กน้อยอยากจะเป็นนักต่อสู้ อ่ะนะ)
แล้วเลือกตั้งครั้งใหม่... เด็กน้อยจะเลือกอย่างไร? เค้าจะมีแนวคิดใหม่ๆในการเลือกชีวิต
ของเขาหรือเปล่า?
ชีวิตคือการเดินทางครับ ให้เวลากับการกำหนดเป้าหมายที่เราอยากจะไป และศึกษาเส้นทางล่วงหน้า
ก่อนออกเดินทาง ถึงจะไปช้าอย่างไรก็ไม่หลง หรือถึงจะหลงก็หลงไม่มาก...
แต่คนส่วนใหญ่ทุกวันนี้กลับให้ความสำคัญเหลือเกินกับเทคนิคการเดิน การวิ่ง เดินอย่างไรให้เร็ว
วิ่งอย่างไรให้ไม่เหนื่อย ท่าไหนสวย ท่าไหนมั่นคงทิศไหนไม่รู้....ขอกูได้เดินก่อนเถอะ
ทั้งที่ความเป็นจริงมันไม่ได้ใช้เวลาและความสามารถมากเลยกับการกำหนดพิกัดเป้าหมาย
สำรวจเส้นทาง
ผมมักจะพูดอยู่เสมอว่า “เดินช้าช้าอย่างถูกทิศ ดีกว่าวิ่งสุดชีวิตแต่หลงทาง”
กวาดตามองดูพี่น้องชาวไทยปัจจุบันมีคนหลงทางเยอะซะด้วย และที่น่าเศร้าคือ
โดยมากมันสายเกินกว่าจะกลับมาซะแล้ว
ผมคิดเองอย่างสั้นๆง่ายๆโง่ๆว่า ถ้าหากประเทศเราหล่อหลอมให้ประชาชนเดินแบบถูกทิศถูกทางถูกที่ได้ ความเจริญก้าวหน้าและความสามารถทางการแข่งขันของประเทศคงไปได้ไกลมากกว่าที่ใครต่อใคร
เอาแต่ประกาศก้องว่าจะเป็นเสือ เป็นมังกร เป็นหมีแพนด้า ตัวที่เท่าไหร่ของโลกก็เถอะ
ก็เข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเด็กน้อยทั้งหลายเองก็ไม่ได้รับการปลูกฝังให้กำหนดแผนที่ชีวิต
และวิ่งเข้าหาข้อมูลพื้นที่ด้วยตัวเอง ซ้ำร้ายยังขาดแคลนระบบและการสื่อสารให้ศึกษาเชิงลึก
ถึงเส้นทางในอนาคตต่างๆอย่างง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ใช่ว่าจะเริ่มไม่ได้
ฉะนั้นขอฝากไว้สำหรับเด็กน้อยที่กำลังจะมีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก และเด็กน้อยในร่างผู้ใหญ่ทุกท่าน
ผมคิดว่าถึงเวลาที่เราจะให้เวลากับความคิดเหล่านี้อย่างจริงจังได้แล้ว เพื่อป้องกันความเสียดาย
ที่จะเกิดขึ้นกับเวลาชีวิตที่เหลืออยู่
เฮ้!!!
ส่วนเด็กไม่น้อยทั้งหลายแหล่ ที่ได้ให้ความสำคัญกับการเลือกมาตลอดและคิดว่าสิ่งที่ผมบอกนั้น
มันไม่เห็นจะจริงเอาซะเลย ก็ขอแสดงความยินดีอย่างจริงใจด้วยนะครับ
ที่คุณได้ผ่านการเลือกชีวิตของคุณอย่างพิถีพิถัน และเริ่มทำมันให้เป็นความจริงเรียบร้อยแล้ว
แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร
เหนือสิ่งอื่นใดคุณคือเพชรเม็ดหนึ่งของสวนดุสิต จะนอนนิ่งในโคลน หรือพร้อมจะถูกหยิบออกมาเจียรไน
(บ่นบ้าไปตามประสา)
๒ กรกฎาคม ๒๕๕๔